ประวัติความเป็นมา
สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย หรือที่เรียกโดยย่อว่า THAIMED ก่อตั้งขึ้นในปี 2532 โดยเริ่มจากสมาชิกผู้ก่อตั้ง 6 ราย เพื่อทำหน้าที่ประสานนโยบายกับกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกเมื่อหนังสือรับรองการขาย (Free Sales Certificates - FSC) กลายเป็นข้อบังคับทางกฎหมายในการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ ส่วนความสำเร็จอื่นๆ ได้แก่การเจรจาต่อรองกับกระทรวงการคลังให้ลดหย่อนภาษีนำเข้า และให้จัดประเภทของสินค้าที่เป็นเครื่องมือแพทย์ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งแต่เดิมไม่ได้มีการแบ่งประเภทของเครื่องมือแพทย์ไว้อย่างชัดเจนในรายการสินค้าที่มีลักษณะเดียวกันแต่มีวัตถุประสงค์ของการใช้ต่างกัน ส่งผลให้มีการจัดเก็บภาษีนำเข้าของสินค้าเครื่องมือแพทย์ในอัตราเทียบเท่ากับสินค้าตามหมวดสินค้าทั่วไปอย่างไม่มีเหตุผล ซึ่งทางกระทรวงการคลังได้มีการพิจารณาทบทวนและปรับเปลี่ยนในเวลาต่อมาเป็นผลให้ต้นทุนของการให้บริการทางสุขภาพแก่คนไทยลดลงได้อีกเป็นจำนวนมาก
ตลอดระยะ 31 ปีที่ผ่านมา THAIMED ได้สะสมชื่อเสียงที่มั่นคงในฐานะสมาคมที่มีการดำเนินงานอย่างราบรื่นได้นำพาสมาชิกของสมาคมซึ่งประกอบด้วยบริษัทที่เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายเครื่องมือแพทย์ทั้งที่เป็นบริษัทของคนไทย บริษัทร่วมทุนระหว่างประเทศ และบริษัทข้ามชาติรวมเป็น 114 บริษัทในปัจจุบัน
THAIMED บริหารงานโดยคณะกรรมการบริหาร ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่กำหนดนโยบายและบริหารกิจการของสมาคมฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และข้อบังคับของสมาคมฯ ที่กำหนดไว้
THAIMED เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรทางการค้า ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่มีเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนของสมาชิกให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเข็มแข็งและมั่นคงขององค์กรให้เป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ให้มีอำนาจในการเจรจาต่อรองกับส่วนราชการและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีหลักในการบริหารงานเพื่อ
สร้างความพร้อม
และความร่วมมือระหว่างบริษัทสมาชิกด้วยกัน
ให้ความร่วมมือ
และประสานงานกับภาครัฐและองค์การของภาคเอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ให้เจริญและก้าวหน้ายิ่งขึ้น
สนับสนุนนโยบาย
ของรัฐที่มุ่งเป็นการเปิดเสรีทางเครื่องมือแพทย์ในอนาคต โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคเอเชียในอนาคต
แต่เดิมการบริหารงานประจำของสมาคมฯอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารสมาคมรวมทั้งเลขาธิการสมาคม ซึ่งได้อุทิศเวลา 2-4 วันทำงานต่อเดือน เพื่อปฏิบัติภารกิจและกิจกรรมต่างๆของสมาคมฯ โดยในระยะแรกมุ่งเน้นในการทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น และยังไม่มีที่ทำการและพนักงานประจำ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารสมาคมได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงโครงสร้างและบทบาทการดำเนินงานใหม่เพื่อปรับปรุงการบริหารองค์กรและบุคคลกร เพื่อให้การดำเนินงานของสมาคมมีความคล่องตัวและสามารถปรับเปลี่ยนการปฏิบัติงานให้มีความต่อเนื่องสอดคล้องและทันต่อสถานการณ์ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและการปกครอง ทั้งภายในประเทศและของโลกในยุคที่ไร้พรมแดน
ในปัจจุบันสมาคมได้มีสำนักงานและพนักงานประจำรวมทั้งสิ้น 4 คน และได้ขยายขอบเขตของการติดต่อประสานงานไปยังหน่วยงานในภาครัฐและภาคเอกชนอื่นๆ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง แพทยสภา สมาคมทางการแพทย์ในสาขาต่างๆ สมาคมโรงพยาบาลเอกชนและ 12 สมาคมเอกชนที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพ ฯลฯ
ปัจจุบัน THAIMED มีคณะกรรมการบริหารสมาคมทั้งหมด 7 คน และคณะอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่ในกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมฯ อีก 2 คณะคือ
- คณะอนุกรรมการฝ่ายกิจกรรมการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ (RA Sub-Committee)
- คณะอนุกรรมการฝ่ายกิจกรรมการเบิกจ่ายค่าอุปกรณ์สำหรับการรักษาพยาบาล (RIM Sub-Committee)
นอกจากนี้ THAIMED ได้จัดทำวารสารข่าวขึ้นเป็นประจำทุกๆ 3 เดือน
โดยเผยแพร่ในรูปของข้อมูลอีเล็กโทรนิกส์ลงในเว็บไซต์ www.thaimed.co.th เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้แก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป จัดการสัมมนาในหัวข้อที่เป็นที่สนใจให้แก่สมาชิก รับทำหน้าที่ในการรวมรวมเอกสารเพื่อยื่นขอขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ทั่วไปให้แก่สมาชิกและผู้ประกอบการทั่วไป ภายใต้โครงสร้างที่ปรับปรุงใหม่ นี้ THAIMED จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางคอยประสานในด้านวิชาการและ กิจกรรมที่สำคัญๆ กับหน่วยงานภายนอกแล้วแจ้งข่าวสารนั้นๆ ให้สมาชิกทราบเพื่อนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องต่อไป การปรับปรุงนี้เป็นผลดีต่อสมาชิก เพราะทำให้ทุกบริษัทได้รับทราบแนวทางปฏิบัติและนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทางด้านอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไปพร้อมๆ กันและมีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังทำให้การนำเสนอประเด็นปัญหาและการพิจารณาข้อเสนอแนะมีความเป็นกลางมากขึ้นเพราะเป็นการมองกิจการของสมาชิกทั้งระบบ มิใช้มุ่งเน้นเพื่อบริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยเฉพาะ
ผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา THAIMED ได้นำหลักการบริหารตามแนวนโยบายเดิมมาโดยตลอดและได้มีการปรับปรุงการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อวางรากฐานความมั่งคงเตรียมความพร้อมให้สมาคมฯ เพื่อรองรับภาระและหน้าที่ที่เพิ่มมากขึ้นตามกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะแพร่ขยายเข้ามาสู่ประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้
THAIMED เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมโดย ส่วนรวม ดังนั้น เมื่อรัฐบาลกำหนดนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่งที่ประสงค์จะให้ผู้ประกอบการตอบสนองนโยบายนั้นๆ สมาคมฯ ก็จะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการประสานงานระหว่างบริษัท สมาชิกกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตลอดระยะที่ผ่านมา สมาคมฯ มีบทบาทสำคัญหลายประการดังต่อไปนี้
- มีส่วนร่วมในการจัดทำร่างกฎหมายฉบับต่างๆ อีกทั้งยังให้ความร่วมมือย่างใกล้ชิดในการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ รวมถึง พ.ร.บ. เครื่องมือแพทย์ฉบับใหม่ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขอีกหลายฉบับในเวลาต่อมา
- จัดส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมในหัวข้อและประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพของระบบการกำกับดูแล ตลอดจนการเปิดการค้าอย่างเสรีของเครื่องมือแพทย์ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศในภาคต่างๆ ของโลก
- ให้ความร่วมมือ สนับสนุนภาครัฐบาลและองค์กรเอกชนในต่างประเทศร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมระหว่างประเทศ เช่น 2nd Asian Harmonization Workshop Party (AHWP) Meeting, 3rd APEC-Funded Seminar on Harmonization of Medical Device Regulation, AHWP Workgroup 01 Meeting, 3rd ASEAN Consultative Committee for Standards and Quality – Medical Device Product Working Group (ACCSQ-MDPWG) Meeting
- การเข้าเป็นสมาชิกและร่วมในการแสดงและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในองค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ในการควบคุมระบบกำกับดูแลเครื่องมือแพทย์ตามภูมิภาคต่างของโลก เช่น AHWP, GHFF, ADVAMED และ EUCOMED ฯลฯ ทำให้สมาคมฯ สามารถระดมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาทางปฏิบัติเกี่ยวกับการขอขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งยังสามารถเพิ่มศักยภาพและอำนาจในการต่อรองได้เป็นอย่างดี
เป็นที่ทราบกันดีว่าในอนาคตอันใกล้นี้ภาคราชการจะเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลเครื่องมือแพทย์มากยิ่งขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับระบบสากล เนื่องจากรัฐบาลมีข้อผูกพันตามข้อตกลงที่จะเปิดเสรีทางด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพซึ่งรวมถึงเครื่องมือแพทย์ด้วย และการให้บริการทางการแพทย์ ข้อผูกพันดังกล่าวอาจส่งผลกระทบทางการค้าที่เป็นธุรกิจของผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกเครื่องมือแพทย์โดยตรง และอาจมีผลกระทบต่อธุรกิจของผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายเครื่องมือแพทย์โดยทางอ้อม นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ ซึ่งกำลังเข้มข้นขึ้นทุกที และมีผลบังคับใช้เมื่อไม่นานมานี้ เช่น พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้า ของสำนักงานคณะกรรมการผู้คุ้มครองผู้บริโภค พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้น สมาคมฯ จึงมีหน้าที่สำคัญในการให้ความร่วมมือกับสมาชิกในการปรับปรุงประสิทธิภาพ และคุณภาพมาตรฐานของการบริการ การบริหารจัดการ โดยการพัฒนาขีดความสามารถของการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้ภายใต้ความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา